งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทความเป็นมาของวัฒนธรรมการบริโภคหอยนางรมสดของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศึกษาการเตรียมหอยนางรมเพื่อให้เหมาะสมกับการบริโภคสด และศึกษาผลของยอดกระถินที่มีต่อการบริโภคหอยนางรมสด โดยบริบทประกอบด้วยประวัติความเป็นมาในการบริโภคหอยนางรมสด การรับประทานหอยนางรมมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย การเตรียมหอยนางรม มาตรฐานหอยนางรม อายุการเก็บรักษา และตลาดการจำหน่ายหอยนางรม วัฒนธรรมการบริโภคหอยนางรมสด ส่วนใหญ่จะรับประทานคู่กับเครื่องเคียง
การเตรียมหอยนางรมทั้งเปลือกเพื่อให้เหมาะสมต่อการบริโภคสด จาก 4 ชุดการทดลอง พบว่าด้านกลิ่น สี ความสด สิ่งแปลกปลอม ความกรอบ รสชาติ และความชอบรวม ไม่มีความแตกต่างกัน (P>0.05) โดยพบว่าชุดที่ 4 หอยนางรมทั้งเปลือกแช่น้ำแข็งผสมเกลือ ผู้ทดสอบชิมมีแนวโน้มให้คะแนนการยอมรับด้านความชอบรวมสูงสุด
ส่วนการเตรียมหอยนางรมแกะเปลือกเพื่อให้เหมาะสมต่อการบริโภคสด จาก 4 ชุดการทดลอง พบว่าด้านสี และสิ่งแปลกปลอม ไม่มีความแตกต่างกัน (P>0.05) แต่มีความแตกต่างกัน (P<0.05) ในด้านกลิ่น ความสด ความกรอบ รสชาติ และความชอบรวม โดยพบว่าชุดที่ 4 หอยนางรมแกะเปลือกแช่น้ำแข็งผสมเกลือ ผู้ทดสอบชิมมีแนวโน้มให้คะแนนการยอมรับด้านความชอบรวมสูงสุด
การทดสอบทางประสาทสัมผัสของชุดการทดลองที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 4 ชุดการทดลอง พบว่า ด้านกลิ่น สี ความสด สิ่งแปลกปลอม และความกรอบ ไม่มีความแตกต่างกัน (P>0.05) แต่มีความแตกต่างกัน (P<0.05) ในด้านรสชาติ และความชอบรวม โดยพบว่าชุดที่ 4 หอยนางรมแกะเปลือกแช่น้ำแข็งผสมเกลือ ผู้ทดสอบชิมมีแนวโน้มให้คะแนนการยอมรับด้านความชอบรวมสูงสุด
การทดสอบทางประสาทสัมผัสของยอดกระถินที่มีต่อการบริโภคหอยนางรมสดทั้ง 6 ชุดการทดลอง พบว่าด้านกลิ่น สี ความหวาน และความชอบรวม มีความแตกต่างกัน (P<0.05) โดยพบว่าชุดที่ 6 กระถิน ร้อยละ 10 เคี้ยว 2 นาที ผู้ทดสอบชิมมีแนวโน้มให้คะแนนการยอมรับด้านความชอบรวมสูงสุด
|